
ยินดีต้อนรับสู่เวปไซต์ทางการของสมาคมวิชาชีพ เพื่อศาสตร์ทางด้านศัลยกรรมตกแต่งเสริมสวย โดยจะเป็นแหล่งความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับประชาชนทั่วไป จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ส่วนตน
"ร้อยไหม" ผิดวิธี เสี่ยงหน้าพัง เสียเงินฟรี
Posted by TNN Life News on Thursday, 9 March 2017
อีกผลร้ายจากการผ่าตัดเสริมหน้าอก
ล่าสุดก็มี เรื่องเกิดขึ้นอีกจนได้ ตามที่พาดหัวข่าว สาวอยากอึ๋ม! ทุ่มครึ่งแสนเสริมเต้าหวิดเน่า โร่ให้หมอ รพ.ขอนแก่นช่วย
จากเนื้อข่าวดังกล่าว สรุปปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดังนี้
- คนไข้ทำการผ่าตัดโดยแพทย์ที่ไม่ใช่ศัลยแพทย์ตกแต่ง
- ทำการผ่าตัดในคลินิกที่ไม่ได้มาตรฐานสำหรับการผ่าตัดใหญ่ ไม่ได้มีเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับดมยาสลบ ไม่ได้มีการเตรียมผู้ป่วยหรือ ตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด ผู้ป่วยก่อนผ่าตัด เพราะ พบว่าผู้ป่วยมีปัญหาเกร็ดเลือดต่ำมากหลังผ่าตัด (กรณีนี้ เกร็ดเลือดคนไข้อาจต่ำก่อน หรือหลังผ่าตัดจากที่เสียเลือดมากๆก็ได้)
- ขนาดของเต้านมเทียมที่ใส่เข้าไปมีขนาดค่อนข้างใหญ่มาก (รายนี้ใส่ถึง 600 cc)
- หลังผ่าตัดคนไข้ไม่ได้อยู่ดูอาการต่อจนปลอดภัย แต่ให้กลับบ้านและ อาจไม่ได้ใส่สายระบายเลือด เพื่อระบายเลือดที่ตกค้างหลังผ่า
ในเรื่องของเลือดคั่งหลังการผ่าตัดถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ โดยถ้ามีปริมาณเลือดไม่มาก ร่างกายจะสามารถดูดซึมหมดไปได้ แต่หากมีเลือดออกเป็นปริมาณมาก ถือเป็นผลข้างเคียงที่อันตรายและถึงแก่ชีวิตได้ เพราะหากอาจเกิดความดันต่ำ ช๊อก หมดสติ ถึงแก่ชีวิต หรือถ้ารักษาหยุดเลือดทัน ก็ยังมีผลในระยะยาวต่อเนื่อง เสี่ยงติดเชื้อ หรือทำให้เกิดพังผืดหนารอบถุงเต้านมเทียม มีการหดรัดได้มาก และทำให้เต้านมผิดรูปในระยะยาวได้ ด้วยเหตุนี้ ศัลยแพทย์ตกแต่งจึงให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างโพรงใส่เต้านมเทียม และควบคุมเลือดออกในโพรงที่ใส่เต้านมให้ดี
ในส่วนของคนไข้เอง ก่อนผ่าตัดก็ควรศึกษาให้ดีก่อน โดยสามารถใช้แนวทางดังต่อไปนี้
ก่อนผ่าตัด
- คนไข้ควรรับคำปรึกษาจากแพทย์โดยตรง (ไม่ใช่ผ่านนายหน้าหรือหน้าม้า) และแจ้งแพทย์ให้รับทราบเรื่องโรคประจำตัวต่างๆที่อาจมีผลกับการแข็งตัวของเลือด
- หากกินยาบางชนิดอยู่ เช่น แอสไพริน หรือกลุ่มยาปวดเข่าปวดข้อบางตัว ควรหยุดก่อนผ่าตัด 7-14 วัน (ถ้าคนไข้ทานยาพวกนี้อยู่แสดงว่า อายุเลยเลข 4 ไปหน่อยเดียว แนะนำว่าควรผ่าตัดตามโรงพยาบาลจะปลอดภัยกว่า)
- อาหารเสริมและวิตามินที่นิยมรับประทานกันในปัจจุบัน อาจมีผลบ้างที่ทำให้เลือดออกมาก เช่น วิตามิน E น้ำมันปลา แต่ก็ขึ้นกับปริมาณ ความต่อเนื่อง และขึ้นกับแต่ละคนและชนิดการผ่าตัด ควรขอคำแนะนำจากแพทย์เป็นรายๆว่า จะจำเป็นต้องหยุดก่อนผ่าตัดหรือไม่ นานเท่าไหร่
ระหว่างการทำผ่าตัด
- เลือกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ที่สามารถให้การรักษาหากเกิดเหตุฉุกเฉินได้
- กรณีที่ต้องมีการให้ยาระงับประสาท ควรต้องมีวิสัญญีแพทย์ให้การดูแลเรื่องการหายใจในระหว่างที่ศัลยแพทย์ตกแต่งทำการผ่าตัด
- แพทย์ผู้ผ่าตัดต้องได้รับการฝึกฝนอบรมตามหลักสูตรที่รับรองโดยแพทยสภา ยกตัวอย่าง ศัลยแพทย์ตกแต่ง ที่นอกจากจะได้รับการฝึกสอนทำหัตถการผ่าตัด ยังสามารถดูแลเหตุฉุกเฉิน รักษาผลแทรกซ้อนได้ทันท่วงที เช่น ผ่านการเรียนรู้กายวิภาค เพื่อลดปัจจัยที่จะเสี่ยงต่อเส้นเลือดฉีกขาด ผ่านการฝึกอบรมด้านศัลยกรรมทั่วไป มีความรู้และแนวทางที่จะช่วยทุเลาเลือดออก ได้ไม่ว่าจะเกิดมากน้อยอย่างไร หรือปรับเปลี่ยนแผนการผ่าตัดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้ และหากเกิดปัญหาในภายหลัง เช่น ปัญหาเยื่อพังผืดหดรัด ก็จะสามารถแก้ไขผลข้างเคียงในระยะยาวที่ต่อเนื่องได้
- สามารถส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน และมีบุคคลากรที่จะให้การดูแลที่ทันท่วงทีได้ เช่น เมื่อเกิดภาวะช๊อค จำเป็นต้องให้เลือด เป็นต้น
หลังการผ่าตัด
- ควรมีการติดตามผลก่อนจะให้กลับบ้าน แพทย์ควรแนะนำอาการสำคัญต่างๆ เช่น ถ้าหลังเสริมแล้ว มีอาการปวด บวม หรือขนาดของเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิม หรือพบว่า สีผิวบริเวณที่เสริม เริ่มมีรอยช้ำ กระจายมาก หรือ หายใจไม่ปกติ หอบเหนื่อย เป็นต้น ควรรีบพบแพทย์ด่วน
- เมื่อมีปัญหาเร่งด่วนข้างต้น ควรสามารถติดต่อแพทย์โดยสะดวก และมีความพร้อมที่จะสามารถเข้าห้องผ่าตัดแก้ไขภาวะฉุกเฉินได้ตามมาตรฐาน
ด้วยความปรารถนาดีจากสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย